โรคเหงือก เกิดจากการอักเสบของเหงือก ที่มีสาเหตุมาจากน้ำลายที่ฉาบบนผิวฟันเมื่อมารวมกับเศษอาหารทำให้มีเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นเหมือนฟิล์มที่ใสที่มาเกาะอยู่บนตัวฟัน หากไม่มีการทำความสะอาดทุกวันอย่างเหมาะสม คราบแบคทีเรียก็จะสะสมและปล่อยสารพิษที่จะทำลายเนื้อเยื่อของเหงือก และเกิดอาการเหงือกอักเสบได้
ระยะของอาการโรคเหงือก
- ระยะแรก อาการเหงือกอักเสบ ซึ่งจะมีสาเหตุจากคราบหินปูนที่ผิวของฟันนี้ เป็นอาการเริ่มต้นของโรคเหงือก แม้ว่าการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอจะช่วยทำลายคราบแบคทีเรียได้ แต่ไม่สามารถกำจัดได้ทั้งหมด ซึ่งเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้มักจะทำให้เกิดการระคายเคืองและมีเลือดออกขณะแปรงฟัน ซึ่งในระยะนี้สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยการไปพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูน เนื่องจากกระดูกและเนื้อเยื่อยังไม่ถูกทำลายไป
- ระยะที่สอง อาการปริทันต์ หรือโรคเยื่อหุ้มฟันอักเสบ ในระยะนี้ กระดูกและเส้นใยที่คอยยึดฟันไว้จะถูกทำลายไปแล้ว ร่องเหงือกจะกลายเป็นโพรงที่เศษอาหารและหินปูนเข้าไปสะสม
- ระยะที่สาม อาการปริทันต์ขั้นรุนแรง ในระยะนี้ ฟันจะมีอาการโยก เพราะกระดูกและเส้นใจที่คอยยึดฟันไว้ได้ถูกทำลายไปแล้ว หากไม่ได้รับการรักษาจะเป็นสาเหตุของกลิ่นปาก มีหนองไหลออกมาจากร่องเหงือก และอาจจะต้องถอดฟันทิ้ง
สาเหตุของการเกิดโรค
- คราบหินปูน หรือเรียกว่าหินน้ำลาย เกิดจากการที่แร่ธาตุในน้ำลายเข้าไปรวมตัวคราบจุลินทรีย์จนเกิดเป็นคราบแข็ง ซึ่งความแข็งของหินปูนสามารถทิ่มตำเหงือกจนเกิดอาการอักเสบได้
- การสูบบุหรี่ โดยมีผลการศึกษามาแล้วว่าคนที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นโรคเหงือกอักเสบมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 4-6 เท่า
- ปัจจัยทางพันธุกรรม มีการศึกษาพบว่าร้อยละ 30 ของผู้ป่วยโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม
- ยาบางชนิด เมื่อรับประทานนานๆ จะทำให้เกิดเหงือกอักเสบ เช่น ยาลดความดัน, ยาเม็ดคุมกำเนิด, ยาต้านอาการซึมเศร้า, ยาระงับชัก และยาโรคหัวใจ
- การขาดสารอาหาร จำพวก แคลเซียม วิตามินซี วิตามินบี
- โรคเบาหวาน และข้ออักเสบ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีความเสี่ยงเป็นโรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์ได้มากกว่าคนทั่วไป
- ความสะอาดของช่องปาก มีผลอย่างยิ่งต่อการเกิดโรคเหงือกอักเสบ ไม่ว่าจะเป็นการแปรงฟันไม่สะอาด การไม่ได้รับการขูดหินปูนเป็นเวลานาน
- การติดเชื้อ ซึ่งเชื้อที่ทำให้เกิดโรคเหงือกอักเสบได้แก่ เชื้อไวรัส, เชื้อรา และแบคทีเรียเช่น เชื้อเริม
ขั้นตอนการรักษา
- การขูดหินปูน ซึ่งหากเป็นในระยะแรกๆ จะสามารถรักษาได้โดยการขูดหินปูน เพื่อขจัดหินปูนและคราบจุลินทรีย์ที่เกาะอยู่บนตัวฟันและบริเวณขอบเหงือก ซึ่งการขูดหินปูนเพื่อรักษาโรคเหงือกนั้น จะขูดทั้งบนตัวฟันและส่วนที่อยู่บกผิวรากฟันภายในร่องปริทันต์ด้วย
- การเกลารากฟัน ซึ่งเป็นการทำผิวรากฟันให้สะอาดและเรียบขึ้น เพื่อทำการกำจัดหินปูนและคราบจุลินทรีย์ที่เกาะลึกลงไปในผิวรากฟัน และเมื่อผิวรากฟันเรียบและแข็งขึ้น จะทำให้ยากต่อการสะสมของหินปูนและคราบจุลินทรีย์
- การผ่าตัดเหงือก หาก 2 วิธีข้างต้นไม่ได้ผล ทันตแพทย์จะพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัด ซึ่งต้องมีการละลายของกระดูกหุ้มรากฟันไม่มาก และเพื่อให้ร่องเหงือกตื้นขึ้น โดยขั้นตอนการผ่าตัดนั้น ทันตแพทย์จะใช้ยาชาทาลงบนเนื้อเยื่อเหงือก แล้วตัดเนื้อเยื่อเหงือกเพื่อให้แยกออกจากฟัน หลังจากนั้นจึงทำความสะอาด เพื่อขจัดหินปูนที่เกาะอยู่ตามซอกฟัน และกำจัดเนื้อเยื่อเหงือกส่วนเกินออก เพื่อให้มีพื้นที่ในการทำความสะอาดฟันได้ดีขึ้น
- การถอนฟัน ซึ่งเป็นวิธีสุดท้ายที่ทันตแพทย์จะเลือก แต่เพื่อไม่ให้มีการลุกลามของเนื้อเยื่อปริทันต์มากไป ก็อาจจำเป็นต้องถอนฟัน เมื่อการรักษาวิธีอื่นข้างตนไม่ได้ผล
การป้องกันโรคเหงือกอักเสบ
- การดูแลความสะอาดช่องปากอย่างถูกต้อง ด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี เป็นการป้องกันพื้นฐานของโรคเหงือกอักเสบ เพราะการแปรงฟันที่มีประสิทธิภาพสามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่เป็นต้นเหตุของโรคออกไปได้ซึ่งควรแปรงวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน และควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟัน
- ใช้สีย้อมคราบจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นยาเม็ดหรือยาน้ำที่มีสีแดง ใช้ย้อมคราบจุลินทรีย์เพื่อดูว่าตรงจุดไหนที่เรายังแปรงฟันไม่สะอาด เมื่อเราเห็นได้ขัดขึ้นว่าจุดไหนเราแปรงไม่ทั่งถึง ก็ควรจะปรับปรุงวิธีการแปรงฟันให้ดีขึ้น
- ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุกๆ 3-6 เดือน เพื่อตรวจดูว่ามีหินปูนหรือคราบจุลินทรีย์ที่เราทำความสะอาดเองไม่ทั่วถึงหรือไม่
กระบวนการในการเกิดหินปูนเป็นไปอย่างช้าๆ หากเราดูแลรักษาสุขอนามัยในช่องปากของเราเป็นอย่างดี โรคเหงือกก็จะไม่มาคุกคาม แต่หากตรวจพบว่า เมื่อแปรงฟันแล้วมีเลือดออก เหงือกมีสีแดงจัด ขอบเหงือกไม่แนบกับตัวฟัน มีอาการเหงือกบวมและมีกลิ่นปาก โดยไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบไปปรึกษาแพทย์ได้ทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาตั้งแต่เนินๆ และจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพและปิดโอกาสที่คุณจะต้องเสียฟันแท้ไปอย่างไม่มีวันกลับมาได้อีกด้วย
คลินิกรักษาโรคเหงือก : คลินิกทันตกรรมโลตัสอ่อนนุช